ชนเผ่าอารยัน อพยพมาจากไหน

 

จริงหรือไม่! พระพุทธเจ้าเป็นชาวบาบิโลน

สมาชิกหมายเลข 4070728 


ภาพที่ 1 หน้าปกหนังสือ The Buddha from Babylon จาก https://www.jessewaugh.com/radio/2015/5/23/harvey-kraft-the-buddha-from-babylon
(A Babylonian King Who Became Buddha)

คุณอาจจะไม่เชื่อสายตาตัวเองว่าจะมีบุคคลผู้หาญกล้าเสนอมุมมองใหม่เกี่ยวกับพุทธกำเนิดของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มหาศาสดาแห่งพุทธศาสนา อย่างที่เราทราบกันดีจากการศึกษาที่ผ่านมาถึงทฤษฎีที่นักวิชาการส่วนใหญ่ยอมรับ พระพุทธเจ้าก็คือ “เจ้าชายสิทธัตถะ โคตะมะ” (Siddhārtha Gautama) แห่งราชวงศ์ศากยะ (Shakya clan) มีถิ่นประสูติอยู่บริเวณที่เป็นประเทศเนปาลในปัจจุบัน เรื่องราวเกี่ยวพุทธประวัตินั้นถูกนักโบราณคดีในยุคหลังใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการเสาะแสวงหาสถานที่สำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับช่วงชีวิตของพระองค์ หรือที่เราชาวไทยรู้จักกันดีว่า สังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่ง ที่ตั้งอยู่ในประเทศเนปาลกับอินเดีย
 
1
 
จุดเริ่มต้นที่ทำให้เชื่อกันว่าถิ่นประสูติของพุทธองค์อยู่บริเวณอินเดียหรือเนปาล เนื่องจากในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19  บรรดานักสำรวจและพ่อค้าวัตถุโบราณกล่าวอ้างกันว่าพวกเขาได้ค้นพบสถานที่ประสูติอยู่ในเนปาล ที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นถิ่นที่อยู่ของเผ่าศากยะที่ได้สาบสูญไปนานมากแล้ว (แม้ว่าปัจจุบันจะมีกลุ่มตระกูลที่อ้างตนว่าสืบเชื้อสายศากยะอยู่ในประเทศเนปาล) อีกทั้งบริเวณที่กล่าวอ้างนี้อยู่บริเวณตอนใต้ของจีนและตอนเหนือของอินเดียปรากฏร่องรอยประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของพุทธศาสนา แต่ในเวลานั้นยังไม่ได้รับการพิสูจน์ความถูกต้อง กระทั่งอีกหนึ่งศตวรรษให้หลังจึงมีนักโบราณคดีพยายามเสาะหาร่องรอยของพุทธองค์และเผ่าศากยะ
 
ด้วยความพยายามของนักโบราณคดีอังกฤษที่เข้ามาในสมัยที่ยึดครองอินเดียเป็นอาณานิคมนั่นเอง พวกเขาได้สำรวจและขุดค้นจนสามารถสรุปและระบุสถานที่ได้ โดยในแต่ละแห่งก็จะมีซากโบราณสถานอยู่ การขุดค้นมีหลายคณะด้วยกัน ที่สำคัญคือ คณะขุดค้นภายใต้การควบคุมของเซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม (Sir Alexander Cunningham) ซึ่งได้สถาปนาความเชื่อที่ว่าพุทธองค์ประสูติและดำรงพระชนม์ชีพตลอดพระชนมายุในผืนแผ่นดินชมพูทวีป
 
แม้ว่าจะเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปแล้ว ทว่าก็ยังมีประเด็นที่น่าสงสัยทำให้มีผู้หยิบยกมาเป็นข้อถกเถียงและเสนอแนวคิดใหม่ นั่นคือ ประเด็นที่ พุทธประวัติถูกบันทึกในภายหลังพุทธกาลเป็นเวลานานกว่าหนึ่งศตวรรษ โดยภิกษุนามว่า อัศวโฆษ (Asvaghosa) ซึ่งพุทธประวัติที่ได้จากบันทึกดังกล่าวนี้ได้กลายเป็นข้อมูลอ้างอิงที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันซึ่งก็คือพุทธประวัติที่เราคุ้นเคยกันอย่างดีนั่นเอง พระพุทธเจ้าไม่ได้เป็นเพียงบุคคลธรรมดาสามัญ แต่เป็นผู้วิเศษที่เต็มไปด้วยอิทธิฤทธิ์ เช่น เดินได้ 7 ก้าวทันทีที่ประสูติ เป็นต้น
 
ประเด็นที่คล้ายเป็นช่องโหว่ดังกล่าวข้างต้นเสมือนเป็นการเปิดช่องให้มีการตีความในแง่มุมมอื่น ๆ ตามที่หลักฐานจะเอื้ออำนวย นักวิชาการผู้หนึ่งที่นำเสนอแนวคิดว่า พระพุทธเจ้ามีแหล่งประสูติที่แท้จริงอยู่ถัดไปทางทิศตะวันตกของอินเดีย ไม่ใช่เนปาลซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ ก็คือ รานะจิต ปอล (Ranajit Pal) ในบทความเรื่อง Gotama Buddha in West Asia ของเขา
 
ส่วนบุคคลที่นำแนวคิดของปอลมาศึกษาเพิ่มเติม ประกอบกับแนวคิดในการวิเคราะห์รากฐานทางความคิดในพุทธศาสนาว่ามีรากเหง้ามาจากแนวคิดปรัชญาและศาสนาจากฝั่งตะวันตกก็คือ ฮาร์เวย์ คราฟต์ (Harvey Kraft) เขาได้นำเสนอผ่านหนังสือ The Bhuddha from Babylon: The Lost History and Cosmic Vision of Siddhartha Gautama ของเขา
 
โดยสรุปข้อเสนอของคราฟต์พอจะแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ได้แก่ 1) ในส่วนเรื่องราวชีวิตของสิทธัตถะ และ 2) การก่อรูปจักรวาลทัศน์ของพระพุทธองค์  โดยในบทความนี้จะเน้นนำเสนอส่วนของเรื่องราวชีวิตของเจ้าชายสิทธัตถะ
 
คราฟต์เสนอว่า สิทธัตถะ โคตมะ มีเชื้อสายอารยัน-ซีเธียน (the Arya-Scythian) เป็นชาวบาบิโลน (Babylon) อยู่ในระยะเวลาที่เปอร์เซียซึ่งนำโดยกษัตริย์ดาริอุสมหาราช (Darius the Great) เข้ารุกราน ภูมิหลังของสิทธัตถะตามแนวคิดที่คราฟต์เสนอนั้นคือ เขาเกิดในตระกูลที่เป็นนักบวชชั้นสูงในศาสนาโซโรอัสเตอร์หรือที่เรียกว่า “มาไจ” (magi) และเคยขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดคือ กษัตริย์แห่งกรุงบาบิโลน ก่อนที่จะต้องหลบหนีเอาชีวิตรอดมาทางตะวันออก
 
ตามข้อมูลในจารึกบีโซทูน (Darius' Bisutun inscription) ของกษัตริย์ดาริอุส เล่าถึงเหตุการณ์ที่กษัตริย์กัมบูชียาหรือคัมบัยเสส (Kambujiya or Cambyses) ของบาบิโลนยกกองทัพเข้าไปปราบปรามอียิปต์ที่ในเวลานั้นเป็นเสมือนเมืองขึ้นที่แข็งข้อต่อบาบิโลนแต่กองทัพของพระองค์ไม่ได้กลับมายังบาบิโลน ทำให้เชื่อกันว่ากษัตริย์สิ้นพระชนม์แล้ว ดังนั้น ตามธรรมเนียมจึงได้อัญเชิญผู้นำสูงสุดทางศาสนาขึ้นครองราชย์แทน กษัตริย์องค์ต่อมาจารึกบีโซทูนระบุพระนามว่า โคมะตะ (Gaumata) โดยดาริอุสกล่าวหาว่าเขาฉวยโอกาสชิงบัลลังก์จากกัมบูชียาเป็นข้ออ้างในการกวาดล้างโคมะตะและขึ้นครองราชย์แทน ส่วนโคมะตะหลบหนีไปได้ก่อนที่จะถูกจับกุมตัว คราฟต์เชื่อว่าโคมะตะหลบหนีไปทางฝั่งตะวันออกจนถึงลุ่มน้ำสินธุ ซึ่งโคมะตะก็ไม่ใช่ใครอื่น แต่คือสิทธัตถะ โคตะมะที่ในเวลาต่อมาจะกลายเป็นศาสดาของศาสนาพุทธนั่นเอง
 
จากข้อเสนอของเขา คราฟต์ได้แสดงหลักฐานที่เป็นร่องรอยของสิทธัตถะ โคตะมะในเอเชียตะวันตก โดยหลักฐานที่นำเสนอมีทั้งการวิเคราะห์ชื่อสถานที่ ต้นตระกูลศากยะ และจารึกที่เขาเชื่อว่าปรากฏร่องรองของพระพุทธเจ้า ซึ่งทั้งหมดมีความสอดคล้องในแง่ระยะเวลา และฟังดูน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง คราฟต์อ้างอิงข้อมูลจากงานของปอลอยู่ไม่น้อย อาจกล่าวได้ว่าปอลเป็นผู้ผลักดันงานในแวดวงวิชาการแม้จะไม่ได้รับการยอมรับมากนักก็ตาม ส่วนคราฟต์เป็นผู้นำเสนอสู่สายตาสาธารณชนในวงกว้าง ซึ่งในโลกตะวันตกมีการกล่าวถึงและวิพากษ์วิจารณ์งานของเขาพอสมควร
 
สิ่งแรกที่คราฟต์หยิบยกมาพิจารณาก็คือ ต้นตระกูลของสิทธัตถะ โคตะมะ ตามพุทธประวัติอย่างที่เราทราบกันดีว่าพุทธองค์เกิดในศากยวงศ์ หรือ the Sakya clan เชื่อว่าในอดีตมีถิ่นฐานอยู่บริเวณตอนเหนือของอินเดียและเนปาล ปัจจุบันมีกลุ่มคนที่อ้างตนว่าเป็นผู้สืบเชื้อสายศากยวงศ์อยู่ในประเทศเนปาลตามที่รายการสารคดี National Geographic เคยนำเสนอ นั่นเท่ากับว่าถิ่นประสูติของพุทธองค์จะอยู่บริเวณด้านตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียและเขตติดต่อในเนปาล แต่คราฟต์เสนอว่าสิทธัตถะเกิดในกลุ่มตระกูลซากะ หรือ the Saka clan มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบยูเรเซีย คราฟต์ยังกล่าวต่อไปอีกว่าเมื่อก่อนคริสตกาลนั้นเจ้าชายสิทธัตถะได้รับการขนานนามว่า “ซากะ มุนี” (Saka muni) ที่หมายถึง นักปราชญ์ชาวซากะ (the Sage of the Saka) โดยคราฟต์อ้างว่ามีจารึกภาษาปะกิต (Epigraphical Hybrid Sanskrit) ที่พบทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียเป็นหลักฐาน ภายหลังในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช (ครองราชย์ 268 – 232 ก่อนคริสตกาล) จึงขนานนามใหม่ว่า “พระศากยมุนี” (Sakyamuni) ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤต ตามเรื่องราวพุทธประวัติที่ยึดถือสืบต่อกันมา โดยพุทธประวัติดังกล่าวนี้ได้รับการบันทึกหลังพุทธปรินิพพานกว่าหนึ่งศตวรรษ และได้ผ่านกระบวนการทำให้เป็นอินเดีย (indianization) ผ่านทางภาษาเรียบร้อยแล้ว สำหรับประเด็นนี้ คราฟต์เชื่อว่าเป็นความพยายามของผู้สืบทอดศาสนาในอินเดียที่จะเปลี่ยนรากเหง้าที่แท้จริงให้เป็นอินเดียที่ในเวลานั้นพุทธศาสนากำลังเฟื่องฟู เพราะคำว่า Sakya นั้นแท้จริงแล้วก็มาจาก Saka ที่มีบันทึกกล่าวถึงกลุ่มคนเหล่านี้เป็นหลักฐานที่ชัดเจน มากกว่าศากยวงศ์ตามพุทธประวัติ
 
ต่อมาคราฟต์เริ่มเฉพาะเจาะจงมากขึ้นด้วยการวิเคราะห์ชื่อเมืองที่สิทธัตถะประสูติ ซึ่งตามพุทธประวัติกล่าวว่าคือ กรุงกบิลพัสดุ์ หรือ Kapilavastu คราฟต์ได้วิเคราะห์รากศัพท์ในภาษาสันสกฤตว่าประกอบด้วย 2 คำ คือ vastu ที่แปลว่า การตั้งถิ่นฐาน อีกคำหนึ่งคือ Kapil นั้น มาจากคำว่า babil ที่แปลว่า ประตูของพระเจ้า (gate of god) ซึ่งเป็นรากศัพท์ของคำว่า Babylon และ Bible สำหรับสถานที่ตั้งของ Kapilavastu คราฟต์เสนอว่าน่าจะอยู่บริเวณจังหวัดซิสถานและบาลูจิสถาน (the Seistan-Baluchistan province) ทางตอนใต้ของประเทศอิหร่านและปากีสถาน หรืออาจจะเป็นกรุงคาบูล (Kabul) ประเทศอิรักในปัจจุบัน ซึ่งทั้งสองบริเวณดังกล่าวพบร่องรอยบรรพบุรุษของชาวอารยันซึ่งเป็นเชื้อสายของตระกูลซากะตั้งแต่ยุคโบราณที่ยังคงดำรงชีวิตแบบเร่ร่อน
 
อีกหนึ่งหลักฐานสำคัญที่คราฟต์นำเสนอเพื่อประกอบสร้างพุทธประวัติคือ จารึกของกษัตริย์ดาริอุสที่ปรากฏนาม Gaumata หรือ โคมะตะ ซึ่งคราฟต์เชื่อว่าเป็นราชวงศ์หนึ่งในราชอาณาจักรซากะ (the Saka kingdom) และเขายังเชื่อมั่นว่า Guamata ที่ถูกอ้างถึงในจารึกบีโซทูน (ดูภาพได้จาก http://brewminate.com/rock-reliefs-mass-communication-and-propaganda-in-the-ancient-world/) นั้นแท้จริงแล้วก็คือ สิทธัตถะ โคตะมะ โดยอ้างว่าในสมัยนั้นบาบิโลนเป็นสังคมหลากหลายเชื้อชาติและภาษาเป็นเหตุให้มีการออกเสียงเรียกชื่อและการสะกดคำแตกต่างกันออกไป ประกอบกับเมื่อพิจารณาช่วงเวลาจะพบว่ากษัตริย์ดาริอุสมีชีวิตอยู่ระหว่าง 550 - 486 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งมีช่วงเวลาที่ร่วมสมัยกับพุทธองค์ในกรณีที่เชื่อว่าปีที่พุทธองค์ปรินิพพานคือ 543 ก่อนคริสตกาลนั้นคลาดเคลื่อน ดังที่มีนักวิชาการหลายคนได้นำเสนอ เช่น วีแลนได โกปาลา อายเออร์ (Velandai Gopala Aiyer) นำเสนอว่าปีประสูติที่แท้จริงของพระองค์คือ 566 หรือ 567 ปีก่อนคริสตกาล ส่วนปีที่ปรินิพพานคือ 487 ปีก่อนคริสตกาล โดยอ้างอิงจากช่วงชีวิตของพระเจ้าอโศกมหาราชที่นักวิชาการเชื่อว่าถูกต้องแล้วนับเวลาย้อนกลับไปจนถึงสมัยพุทธกาล
 
ในส่วนความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์โคมะตะกับกษัตริย์ดาริอุส คราฟต์เชื่อมโยงกับพุทธประวัติว่าคือส่วนเรื่องราวของพุทธองค์กับพระเทวทัต (Devadatta) นั่นคือ เขาเห็นว่าเรื่องราวดังกล่าวนี้มีพื้นฐานจากความขัดแย้งระหว่างดาริอุสกับพระพุทธเจ้า และแน่นอนว่า พระเทวทัตในพุทธประวัติก็ไม่ใช่ใครอื่นไกล แต่คือ กษัตริย์ดาริอุสผู้เกรียงไกรผู้นี้นั่นเอง คราฟต์อ้างว่านาม Devadatta ใกล้เคียงกับนาม Damidadda ปรากฏในคัมภีร์ในศาสนาโซโรอัสเตอร์ ประกอบกับตัวดาริอุสเองเป็นกษัตริย์ที่เลื่อมใสในศาสนานี้ และได้พยายามทำการกวาดล้างและตั้งตนขึ้นแทนที่กษัตริย์โคมะตะ ซึ่งสอดคล้องกับความพยายาทของพระเทวทัตในพุทธประวัติ ทำให้คราฟต์ได้ข้อสรุปของเขาเองว่า เรื่องราวในพุทธประวัตินั้นได้เค้าเรื่องทางประวัติศาสตร์มาจากความขัดแย้งระหว่างดาริอุสกับโคมะตะหรือสิทธัตถะ โคตะมะ /
 
ในส่วนของการก่อรูปจักรวาลทัศน์ของพระพุทธเจ้านั้น สมัยวัยเยาว์การเติบโตในตระกูลซากะ (the Saka Clan) สิทธัตถะน่าจะเคยศึกษาคัมภีร์พระเวท ตลอดจนตำนานการสร้างโลกของบาบิโลน (the Seven Tablets of Creation or The Enûma Eliš) มหากาพย์กิลกาเมช (the Gilgamesh) และบทปฐมกาลในพระคัมภีร์ฮีบรู ทั้งหมดนี้เป็นคัมภีร์หรือตำนานที่เกี่ยวเนื่องในศาสนาต่าง ๆ ที่สำคัญในโลกยุคโบราณที่มีกำเนิดอยู่ในดินแดนเอเชียตะวันตก หากพิจารณาจากโลกทัศน์ในพุทธศาสนาแล้วจะพบว่าได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาโบราณเหล่านี้อยู่ไม่
 
เอเชียตะวันตกเป็นศูนย์รวมและแหล่งกำเนิดความเชื่อที่หลากหลายของ เนื่องจากเป็นดินแดนที่มีปฏิสัมพันธ์ของคนหลากเชื้อชาติและภาษา ทั้งยังได้รับอิทธิพลจากโลกกรีกมาผสมผสานกับความเชื่อและตำนานของโลกโบราณในเมโสโปเตเมียและอียิปต์ที่มีการติดต่อปฏิสัมพันธ์กันอยู่ตลอดเวลา นั่นทำให้คราฟต์เชื่อว่าพุทธศาสนาเองย่อมได้รับอิทธิพลทางความเชื่อเหล่านี้ และเมื่อเขาได้ศึกษาลึกลงไปในหลักธรรมในพุทธศาสนาที่เสมือนเป็นภาพแทนจักรวาลทัศน์ขององค์พระศาสดา โดยใช้วิธีที่เขาคิดค้นขึ้นเรียกว่า โบราณคดีจิตวิญญาณ (Spiritual Archeology) เมื่อมาประกอบกับพื้นฐานที่ได้จากงานศึกษาของปอล ทำให้คราฟต์มั่นใจที่จะนำเสนอข้อสมมติฐานที่น่าสนใจเช่นนี้สู่สายตาสาธารณชนในวงกว้าง
แก้ไขข้อความเมื่อ 01 มีนาคม 2564 เวลา 23:28:06 น.

0

11 ความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 1
สมาชิกหมายเลข 4070728 
นอกจากหลักฐานที่คราฟต์อ้างมาข้างต้นแล้ว เขายังได้อธิบายเพิ่มเติมถึงหลักฐานประเภทโบราณวัตถุขนาดใหญ่ที่สำคัญอย่างพระพุทธรูปหรือโบราณสถานต่าง ๆ ในพื้นที่เอเชียตะวันตกที่ขาดหายไปนั้นเป็นผลมาจากการเบียดเบียนทางศาสนา เพราะภายหลังที่ศาสนาอิสลามเข้ามามีอิทธิพลในบริเวณดังกล่าวก็ได้มีการทำลายรูปเคารพขนาดใหญ่ไปเกือบหมดสิ้น กรณีล่าสุดที่ถูกทำลายไปก็คือ พระพุทธรูปแห่งบามียานซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ที่สลักเข้าไปในหุบผาบามียาน ประเทศอัฟกานิสถาน จากสภาพการณ์ดังกล่าวทำให้หลักฐานเกี่ยวกับพุทธองค์และพุทธศาสนาในบริเวณเอเชียตะวันตกหลงเหลือให้ศึกษาน้อยเต็มที

ส่วนตัวผู้เขียนเมื่อได้เห็นหนังสือของคราฟต์ก็เกิดความสงสัยใคร่รู้ว่าเขาจะนำเสนอหลักฐานและข้อมูลอะไรที่น่าสนใจ เนื่องจากมีนักวิชาการบางส่วนนั้นมีความเห็นแย้งในเรื่องหลักฐานที่ค้นพบในอินเดีย ซึ่งสร้างภายหลังในช่วงที่พุทธศาสนาเจริญงอกงามดีแล้วในอินเดีย ไม่พบร่องรอบที่ร่วมสมัยกับพุทธองค์ ดังนั้น คราฟต์จึงใช้ประเด็นนี้เป็นใบเบิกทางในการเสนอแนวคิดของเขา และข้ออ้างที่สำคัญก็คือ หลักฐานในอินเดียหลงเหลืออยู่มากเพราะการเบียดเบียนทางศาสนาไม่รุนแรงเท่ากับในฝั่งเอเชียตะวันตกนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอที่น่าตื่นตาตื่นใจของคราฟต์ในเวลานี้ก็ยังไม่สามารถหักล้างและโน้มน้าวให้แวดวงวิชาการยอมรับได้ บรรดาผู้สนใจอย่างเราก็คงทำได้เพียงรอดูกันต่อไป เผื่อว่าวันใดวันหนึ่งในอนาคตอาจจะพบหลักฐานที่ทำให้โฉมหน้าประวัติศาสตร์พุทธศาสนาต้องเปลี่ยนแปลงไป

ที่มา:https://www.blockdit.com/posts/600d96b167ce1a0cef995d58
แก้ไขข้อความเมื่อ 01 มีนาคม 2564 เวลา 23:32:33 น.

0
ความคิดเห็นที่ 2
สมาชิกหมายเลข 5447057  
ประวัติศาสตร์ ----มันบิดเบือนกันได้..  ไม่ว่าจะโดยใคร..

แต่คุณสมบัติของพระสัทธรรม... ตามหลักมหาปเทส๔... ที่เรียกว่า " สุคตวินโย "....มันปลอมกันไม่ได้
ผู้มีปัญญาสามารถจำแนกได้ว่า...อะไรจริง-อะไรปลอม....


1
ความคิดเห็นที่ 3
พักผ่อน  
โคตมะ เป็นชื่อโคตรครับ อาจจะเป็นใครก็ได้ที่ตระกูลเดียวกัน และดูจากประวัติที่เขาเทียบเคียง จะออกไปทางพระเจ้าวิฑูฑภะมากกว่าด้วย

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่เรื่องสำคัญกับความเป็นพระพุทธเจ้าสักเท่าไร ความเป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้เลย

0
ความคิดเห็นที่ 4
วงกลม  
จริงหรือไม่! พระพุทธเจ้าเป็นชาวบาบิโลน

--- น่าจะไม่จริงครับ  เพราะตามประวติ ต้นตระกูลพระองค์ท่าน เป็นฤาษีพื้นเมือง

1
ความคิดเห็นที่ 5
สมาชิกหมายเลข 1101943 
เมืองบาลิโลนปัจจุบัน มีวัด มีพุทธสถาน มีพระสงฆ์หรือไม่ ?

ถ้าสถานที่ใดเคยมีพระสงฆ์มาก่อน ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้ เรื่องที่เกี่ยวกับศาสนาพุทธศาสนายังคงดำรงอยู่  แม้จะเป็นซากปรักหักพังก็ตาม
แก้ไขข้อความเมื่อ 02 มีนาคม 2564 เวลา 11:16:43 น.

0
ความคิดเห็นที่ 7
สมาชิกหมายเลข 6344826
แก้ไขข้อความเมื่อ 19 มีนาคม 2564 เวลา 20:28:45 น.

0
ความคิดเห็นที่ 8
akebi1  
ภูมิศาสตร์น่าจะบอกอะไรได้ค่ะ

เครมประเภทนี้ก็เคยได้ยินนะ
ชาวเกาหลีก็บอกว่าพระพุทธเจ้าเป็นชาวเกาหลี

0
ความคิดเห็นที่ 9
สมาชิกหมายเลข 5291045 
เฃื่อว่าเนปาลครับ

0
ความคิดเห็นที่ 10
digimontamer  
อ่านดูแล้ว ค่อนข้างเลื่อนลอย เอาคำพ้องมาสร้างเรื่องขยายต่อ และผูกกับเรื่องราวของพระพุทธเจ้าหน่ะครับ

0
ความคิดเห็นที่ 11
สมาชิกหมายเลข 2113241 
คนไทย บางกลุ่ม เขาว่า พระพุทธเจ้า เป็นคนไทย ดินแดนในพุทธประวัติ อยู่ในแหลมทอง สุวรรณภูมิ นี้เอง

0

Login   เพื่อตอบกระทู้

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เกลือสปาขัดผิว สูตรผสมน้ำนมสูตรน้ำผึ้ง +สูตรมะขาม

ขายถูก!!เจลร้อนนวดไขมัน2ขวดแค่180บาทแถมสบู่น้ำนมน้ำผึ้งบำรุงผิวราคา80บาท

ครีมโสมปรับผิวขาวโอโม่แบบกระปุกและแบบกิโล